กระแดดคืออะไร? รักษาให้หายได้จริงไหม?
เมื่อพูดถึงกระ หลายคนอาจจะนึกถึงใบหน้าเด็กฝรั่งผิวขาวใสแต่มีกระประปรายบนใบหน้าดูน่ารักน่าเอ็นดู แต่เอาเข้าจริงการมีกระนั้นเป็นเรื่องที่หลาย ๆ คนกังวลใจไม่ใช่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระแดด เพราะถือเป็นสัญญาณปัญหาผิวหลากหลายประการ และเนื่องจากกระแดดมักเกิดกับผู้ที่มีอายุมาก จึงถือเป็นอีกหนึ่งสัญญาณของริ้วรอยแห่งวัยเริ่มมาเยือน
กระแดดคืออะไร?
กระแดด คือ อาการทางผิวหนังที่พบได้ทั่วไปในผู้สูงวัย มักถูกเรียกว่ากระแดด เป็นอาการที่มีรอยตามผิวหนังในบริเวณที่ผิวได้รับแสงแดดเป็นเวลานาน เช่น บริเวณโหนกแก้ม ศีรษะ คอ แขน หรือมือ เป็นต้น รอยดังกล่าวนี้จะมีลักษณะเป็นสะเก็ด มีความแห้งและหยาบกร้าน อีกทั้งยังอาจปรากฏเป็นเม็ดสีต่าง ๆ เช่น สีน้ำตาล ชมพู เทา หรือสีแทน ขึ้นอยู่กับพื้นเพสีผิวของแต่ละคน โดยความผิดปกติของผิวหนังนี้เกิดขึ้นจากการที่เซลล์ผิวหนังเคราติโนไซท์มีการเจริญเติบโตผิดปกติ หากปล่อยไว้และไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้เกิดเป็นโรคมะเร็งผิวหนังได้ แต่ทั้งนี้โอกาสในการเกิดขึ้นนั้นมีน้อยมาก ๆ แต่ก็ไม่ควรละเลยไว้
กระแดดมีลักษณะยังไง?
ลักษณะของกระแดดนั้นจะเป็นรอยบนผิวหนังตามบริเวณต่าง ๆ ทั่วร่างกาย โดยกระแดดนั้นสามารถเกิดขึ้นได้บนหนังศีรษะ ใบหน้า ปาก หู คอ แขนด้านล่าง และมือ ซึ่งเกิดจากแสงคลื่นช่วงแสงอัลตราไวโอเลตและช่วงแสงความร้อน ส่งผลทำให้เซลล์เม็ดสีเมลานินที่อยู่ในชั้นผิวหนังชั้นบนเกิดการขยายตัวมีขนาดใหญ่ขึ้นและมีสีเข้มขึ้นกว่าปกติ รอยเหล่านี้อาจมีลักษณะเป็นสะเก็ดหนาหรือมีพื้นผิวที่ดูนูนขึ้นเป็นขนาดเล็กเท่าก้อนยางลบที่ก้นดินสอ นอกจากนี้ยังอาจมีสีที่แตกต่างกันออกไป เช่น สีชมพู สีน้ำตาล สีแดง หรืออาจมีสีเหมือนผิวหนังปกติก็ได้ ในบางเคสอาจรู้สึกว่ารอยนั้นมีความแห้งหรือหยาบกร้านเมื่อเอามือไปสัมผัสโดน หรืออาจรู้สึกคันหรือแสบร้อน
กระแดดเกิดจากอะไรบ้าง?
สาเหตุหลักของการเกิดกระแดด คือ การสัมผัสรังสีอัลตราไวโอเลตในปริมาณมากหรือเป็นประจำ เพราะการสัมผัสรังสีอัลตราไวโอเลตจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเคมีภายในเซลล์ผิวหนัง โดยสารเคมีชนิดนี้จะไปทำหน้าที่ผลิตโปรตีนเคราตินที่ช่วยสร้างเนื้อเยื่อในเส้นผม เล็บ และผิวหนังชั้นนอก ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้อาจทำให้เซลล์เคราติโนไซท์มีขนาด รูปร่าง หรือการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไป
กลุ่มคนที่มีความเสี่ยงในการเกิดกระแดดมากกว่าคนอื่น ๆ คือ
- ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป หรือกลุ่มวัยกลางคนที่ผิวหนังถูกทำลายจากแสงแดดเป็นเวลานานหลายปี
- ผู้ที่มีผิวขาว และมีตาสีฟ้า สีเขียว หรือสีอ่อน
- ผู้ที่มีผมสีแดงหรือสีบลอนด์
- ผู้ที่ตากแดดเป็นประจำ หรืออาศัยอยู่ในที่ที่มีแดดร้อนจัด
- ผู้ที่มีแนวโน้มถูกแดดเผาผิวหนังได้ง่าย หรือเคยผิวหนังไหม้มาก่อน
- ผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอเนื่องจากความเจ็บป่วยหรืออาการต่าง ๆ การใช้ยาในการปลูกถ่ายอวัยวะ การบำบัดภูมิคุ้มกัน การติดเชื้อ HIV หรือติดเชื้อเอดส์ การเป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว หรือเคยเป็นโรคมะเร็งผิวหนังหรือกระแดดมาก่อน
เป็นกระแดดอันตรายไหม?
กระโดยทั่ว ๆ ไปแล้วไม่เป็นอันตรายใด ๆ ต่อร่างกายทั้งในระยะสั้นและระยะยาว แต่ทั้งนี้หากเกิดอาการผิดปกติ โดยเฉพาะกระที่เกิดขึ้นที่บริเวณไหล่และช่วงอก แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ เพราะอาจเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงการเป็นมะเร็งผิวหนังได้
วิธีรักษากระแดดที่ใบหน้า
การรักษากระแดดมีหลายวิธี เช่น
- การใช้ยาทาเฉพาะที่ กลุ่มยาทาลดรอยดำ เช่น hydroquinone, tretinoin, adaptable เป็นยาที่สามารถลดรอยดำได้ รวมถึงสามารถใช้กรดลอกผิวในปริมาณความเข้มข้นต่ำ ๆ ในการลอกผิวหนังชั้นบน แต่การใช้ยาเหล่านี้ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ทุกครั้ง เพื่อหลีกเลี่ยงผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น และเพื่อประสิทธิภาพและความปลอดภัย
- การใช้วิธีการเลเซอร์ อาจต้องทำหลายครั้ง แต่ละครั้งจะมีแผลที่ตกสะเก็ด
- หลีกเลี่ยงแสงแดดและหมั่นทาครีมกันแดดทุกครั้งก่อนออกจากบ้าน ดูแลแผลหรือรอยแผลจากสิวให้ถูกต้องเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดรอยดำเพิ่มเติม
- การรักษาส่วนใหญ่สามารถทำให้รอยโรคจางลงหรือหายไปชั่วคราว แต่อาจมีโอกาสที่กระจะกลับมาเป็นซ้ำได้ การรักษานี้มักจะทำให้รอยดำหายไปหรืออาจมีสีที่จางลง แต่ควรระวังการดูแลแผลหลังการรักษาอย่างถูกต้อง เพื่อป้องกันการกลับมาของรอยดำซ้ำซาก
- ก่อนทำการรักษาควรปรึกษาแพทย์ที่เชี่ยวชาญทางด้านผิวหนังเพื่อรับคำแนะนำและการรักษาที่เหมาะสมและปลอดภัย
การรักษาเพื่อลดรอยดำบนกระแดดนั้นเป็นเรื่องที่ควรให้ความสำคัญและไม่ควรละเลยมองข้าม แต่ก่อนทำการรักษาควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจสอบและวินิจฉัยอาการอย่างถูกต้อง และรับคำแนะนำในการดูแลอย่างเหมาะสม
ป้องกันตัวเองจากกระแดดยังไงดี?
วิธีการป้องกันและหลีกเลี่ยงการเกิดกระแดดนั้นสามารถทำได้ไม่ยาก แต่สิ่งสำคัญคือความสม่ำเสมอ โดยวิธีการป้องกันตัวเองจากกระแดด สามารถทำได้ ดังนี้
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสแสงแดดตั้งแต่ช่วงเวลาที่มีแดดร้อนจัด (ประมาณ 10 โมงเช้าถึงบ่าย 2 โมง) และหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ที่มีแสงแดดเป็นเวลานานจนทำให้ผิวหนังไหม้
- สวมเสื้อผ้าป้องกันแสงแดด ใส่เสื้อแขนยาวและกางเกงขายาวที่มีเนื้อผ้าหนา หรือใช้เสื้อผ้าที่ออกแบบมาเพื่อป้องกันแสงแดดโดยเฉพาะ
- สวมหมวกปีกกว้างเพื่อป้องกันผิวหนังในบริเวณหน้าและคอไม่ถูกแสงแดด
- ใช้ครีมกันแดดที่มีค่า SPF 30 หรือสูงกว่านั้นก่อนออกไปกลางแจ้ง และทาครีมให้ทั่วผิวหนังบริเวณที่ได้รับแสงแดด โดยทาซ้ำทุก ๆ 2 ชั่วโมง และทาให้บ่อยกว่าปกติเมื่อต้องว่ายน้ำหรือหากมีเหงื่อออก
- หมั่นสังเกตความผิดปกติที่เกิดขึ้นตามผิวหนัง และพบแพทย์ทันทีหากมีอาการผิดปกติหรือการเปลี่ยนแปลงบนผิวหนัง
- หลีกเลี่ยงการกระตุ้นให้เกิดซ้ำของรอยกระแดด
กระแดดนั้น ดูเผิน ๆ อาจเหมือนว่าไม่ได้มีความเสี่ยงหรือความอันตรายใด ๆ ต่อร่างกายทั้งในระยะสั้นและระยะยาว แต่ทั้งนี้ การเกิดกระแดดอาจนำมาซึ่งปัญหาใหญ่อย่างโรคมะเร็งผิวหนังได้ ดังนั้น สิ่งที่เราอยากแนะนำ คือ ควรหมั่นสังเกตความผิดปกติของผิวหนัง หลีกเลี่ยงเหตุปัจจัยที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดกระแดด และพบแพทย์เมื่อเกิดความผิดปกติ เป็นต้น